ประหยัดน้ำมันแต่ซ่อมยาก? ทั่วโลกเตรียมรับแรงกระแทกประกันภัยรถยนต์แพงขึ้น เหตุเทคโนโลยีซับซ้อน-ดันค่าซ่อมอ่วม ด้านบริษัทประกันจ่อเก็บเบี้ยแพงขึ้น สื่อนอกระบุ “EV” ตัวแปรทำเบี้ยประกันสูงสุดในรอบ 50 ปี!
การมาถึงของรถยนต์ไฟฟ้า คือหนึ่งในนวัตกรรม “เปลี่ยนโลก” ถูกยกเป็น “Game Changer” แห่งยุคสมัย ทำให้ประเทศมหาอำนาจที่เคยทรงอิทธิพลในฐานะ “พ่อค้าฟอสซิล” อาจถูกลดบทบาทจากการพึ่งพาทรัพยากรน้ำมันที่ลดลง ส่วนประเทศที่เคยอยู่นอกสายตาก็ได้รับการมองเห็นมากขึ้น เนื่องจากครอบครองปริมาณสำรองนิกเกิลมากที่สุดในโลก ซึ่งเป็นแร่ธาตุสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า
ในรอบปีที่ผ่านมา บรรดาค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่ทั้งเก่าแก่และเกิดใหม่ต่างก็เร่งฝีเท้าในการวิ่งไปให้ถึงปลายทางของการเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าอย่างแข็งขัน ไม่เว้นแม้กระทั่ง “ฮอนด้า” (Honda) ที่เคยให้ข่าวเมื่อปี 2565 ว่า การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจะเป็นการค่อยๆ เพิ่มกำลังการผลิตทีละน้อย ทว่า ปลายปี 2566 ที่ผ่านมา “ฮอนด้า” กลับสร้างเซอร์ไพรส์ เปิดไลน์การผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นแรกในไทย และล่าสุดเปิดตัวไปแล้วในรูปแบบให้เช่า สนนราคา 29,000 บาทต่อเดือน
จะเห็นว่า ความเคลื่อนไหวของอุตสาหกรรมรถยนต์ดั้งเดิมเปลี่ยนแปลงไปทั้งระบบ ตั้งแต่สายการผลิต ทรัพยากรในระบบ รวมถึงธุรกิจในอีโคซิสเทมอย่าง “ประกันภัยรถยนต์” สำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) ให้ความเห็นว่า ความซับซ้อนของเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้ากำลังเพิ่มความลำบากให้กับกระเป๋าสตางค์ผู้บริโภคด้วยอัตราค่าคุ้มครองที่สูงขึ้น โดยขณะนี้พบว่า เบี้ยประกันภัยรถยนต์ไต่ระดับสูงขึ้นอย่างรวดเร็วที่สุดในรอบ 50 ปีเลยทีเดียว
- เบี้ยประกันรถไฟฟ้าแพงกว่ารถน้ำมัน เคลมครั้งหนึ่งหมดเกือบ 250,000 บาท
เป็นธรรมดาของผู้ใช้รถที่ต้องมีการซ่อมแซม-เปลี่ยนอะไหล่ตามวาระ ทั้งการทำสีให้เหมือนใหม่ ดัดโครงเหล็กให้เข้ารูปตามเดิม ฯลฯ แต่นั่นไม่ใช่กับรถรุ่นใหม่ที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีเฉพาะทาง แม้จะเป็นเพียงการดัดบังโคลนเล็กๆ น้อยๆ เจ้าของรถก็อาจเสียค่าใช้จ่ายมากกว่าที่เคย จากความก้าวหน้าขององค์ความรู้ด้านวิศวกรรมศาสตร์ที่ทำให้รถยนต์รุ่นใหม่มีความซับซ้อนมากขึ้น
“เบน ไคล์เมอร์” (Ben Clymer) เจ้าของอู่ซ่อมรถยนต์ในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ให้ความเห็นกับบลูมเบิร์ก โดยยกตัวอย่างกรณีรถยี่ห้อ “เกีย” (Kia) ว่า หากเทียบกับรถรุ่นก่อนหน้าราว 2 ถึง 3 ปีที่ผ่านมา จะพบว่า เทคโนโลยีภายในแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง รถรุ่นใหม่เต็มไปด้วยระบบคอมพิวเตอร์และเซ็นเซอร์ทั่วทั้งคัน เขาระบุว่า พัฒนาการของรถยนต์ขณะนี้ได้สร้าง “พายุหมุน” ให้กับค่าซ่อมรถที่ไต่ระดับสูงขึ้นไปอีกขั้น
ข้อมูลจาก “CCC Intelligent Solutions” แพลตฟอร์มรวบรวมข้อมูลด้านประกันภัยรถยนต์ในสหรัฐ ระบุว่า ค่าซ่อมรถยนต์สันดาปตอนนี้เฉลี่ยที่ 4,437 ดอลลาร์ หรือคิดเป็นเงินไทยราว 164,952 บาท ส่วนรถยนต์ไฟฟ้ามีค่าซ่อมสูงถึง 6,618 ดอลลาร์ หรือคิดเป็นเงินไทยราว 246,034 บาท สูงกว่ารถยนต์สันดาปถึง 49%
สอดคล้องกับข้อมูลจากสถาบันประกันภัยในสหรัฐที่พบว่า ยอดค่าใช้จ่ายในการเคลมประกันตั้งแต่ปี 2561 ถึง 2565 สูงขึ้นกว่า 64% โดยค่าใช้จ่ายในการเคลมต่อครั้งเฉลี่ยอยู่ที่ 5,992 ดอลลาร์ หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 222,761 บาท (อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 1 พฤษภาคม 2567)
ค่าซ่อมที่ปรับตัวสูงขึ้นเช่นนี้ ทำให้บริษัทประกันพาเหรดกันเพิ่มอัตราเบี้ยประกันกว่า 20% ในปี 2566 ซึ่งพบว่า เป็นการปรับเพิ่มเบี้ยที่สูงที่สุดในรอบ 48 ปี และไม่ใช่แค่เบี้ยประกันเท่านั้น แต่ราคาซื้อขายรถยนต์ในสหรัฐก็สูงขึ้นด้วย เฉลี่ยแล้วหากอยากมีรถสักคัน คนอเมริกันต้องควักกระเป๋ากว่า 49,000 ดอลลาร์ หรือประมาณ 1.8 ล้านบาท
- ชิ้นส่วนเยอะ เทคโนโลยีซับซ้อน เสียหายครั้งหนึ่ง ต้อง “เปลี่ยนใหม่” ไม่ใช่ซ่อมแซม
เจสสิกา คาลด์เวลล์ (Jessica Caldwell) กรรมการบริหารฝ่ายข้อมูลเชิงลึก จาก “Edmunds.com” แพลตฟอร์มรวบรวมข้อมูลตลาดรถยนต์ ระบุว่า แม้จะมีคนบางกลุ่มที่มองเรื่องการซื้อประกันภัยรถยนต์เป็นรอง ไม่ได้พิจารณาร่วมกับการตัดสินใจซื้อรถตั้งแต่แรก แต่ขณะเดียวก็มีคนอีกกลุ่มที่คิดคำนวณทุกอย่างมาแล้วว่า การซื้อรถ 1 คัน ต้องมีค่าซ่อมบำรุงอะไรบ้าง ฉะนั้น เบี้ยประกันที่สูงขึ้นจึงกระทบกับการตัดสินใจซื้ออย่างแน่นอน และท้ายที่สุดอาจทำให้คนกลุ่มนี้มองหารถรุ่นเก่ามากกว่า
ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เบี้ยประกันแพงขึ้นมาจากช่วงการระบาดใหญ่ บริษัทประกันหลายแห่งชะลอการปรับเพิ่มเบี้ยออกไปก่อน รวมถึงการขาดแคลนชิ้นส่วนรถยนต์ในช่วงนั้นก็ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างในอุตสาหกรรมรถยนต์ด้วย แต่อย่างไรก็ตามความกดดันที่มากกว่านั้น คือการปรับโฉมรถยนต์ให้มีความทันสมัยด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง
อุปกรณ์ที่ช่วยเสริมเกราะความปลอดภัยให้ผู้ขับขี่ อาทิ เบรกฉุกเฉินอัตโนมัติ กล้องสำรอง เซ็นเซอร์แจ้งเตือนเมื่อขับขี่ออกนอกเลน ฯลฯ รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ทั้งหมดนี้แม้จะช่วยให้คนขับมีความปลอดภัยเพิ่มขึ้น แต่ก็ต้องแลกมากับราคาที่ต้องจ่ายเมื่ออุปกรณ์เหล่านี้เสียหาย ซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่สูงตามความทันสมัยด้วย
ยกตัวอย่างเช่น “Toyota Camry” หนึ่งในรุ่นรถยอดฮิตตลอดกาลในสหรัฐ มีการออกแบบปรับโฉมใหม่ในปี 2561 จากเดิมที่ตัวกันชนประกอบไปด้วยชิ้นส่วน 18 ชิ้น ถูกปรับเพิ่มเป็น 43 ชิ้น รวมถึงมีการเพิ่มระบบเซ็นเซอร์ในการดูแลผู้ขับขี่ขั้นสูงด้วย โดยข้อมูลจาก “Mitchell International Inc.” บริษัทซอฟต์แวร์ด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ในสหรัฐ ระบุว่า ค่าใช้จ่ายในการซ่อมรถ Toyota Camry รุ่นปี 2561 เพิ่มขึ้นกว่ารุ่นก่อน 43% หากมีการเฉี่ยวชนด้านหน้ารถ
ส่วนของไฟหน้ารถพบว่า จากเดิมเป็นไฟฮาโลเจน รถรุ่นใหม่ถูกปรับเป็นไฟ LED ซึ่งมีราคาสูงกว่าเดิม 5 เท่า วัสดุฝากระโปรงและตัวถังรถที่เคยใช้เหล็กเป็นหลัก รถรุ่นใหม่ปรับเป็นอะลูมิเนียมแทน ข้อดีคือช่วยประหยัดน้ำมันและปกป้องผู้ขับขี่ภายในรถได้ดีกว่า แต่ขณะเดียวกันก็มาพร้อมกับความเปราะบาง เพราะหากเกิดอุบัติเหตุขึ้นต้องเปลี่ยนใหม่แทนการซ่อมแซม ต่างจากรถยนต์รุ่นเก่าที่สามารถดัดเหล็กกลับเข้ารูปได้
- ระบบไฟฟ้าอันตรายกับคนซ่อม ความไฮเทคสร้างดาบสองคมแก่คนขับ
แม้รถยนต์ไฟฟ้าจะมีชิ้นส่วนภายในน้อยกว่ารถยนต์สันดาป แต่ด้วยเทคโนโลยีที่ซับซ้อนทำให้ใช้เวลาซ่อมเฉลี่ยนานกว่า 20 วัน และด้วยระบบไฟฟ้าทั้งคัน ความเสี่ยงระหว่างการซ่อมก็ยิ่งเพิ่มค่าใช้จ่ายในการรักษาความปลอดภัยแก่ช่างซ่อมมากขึ้นไปอีก
รายงานจาก “CCC Intelligent Solutions” ระบุว่า ความเสี่ยงดังกล่าวทำให้ต้องมีการถอดแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ออกจากตัวรถก่อนเริ่มซ่อมแซมเสมอ โดยเจ้าของอู่รถยนต์ในแคลิฟอร์เนียให้ข้อมูลกับบลูมเบิร์กว่า ช่างซ่อมของอู่เคยถูกไฟฟ้าช็อตขณะซ่อมรถยนต์ไฟฟ้าเมื่อปีที่แล้ว หลังจากนั้นจึงเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยในการทำงานขึ้นไปอีกระดับ ซึ่งแน่นอนว่า นี่คือต้นทุนอีกก้อนในการซ่อมรถยนต์ไฟฟ้า
ไม่เพียงเท่านั้นแต่ยังพบว่า ความทันสมัยภายในตัวรถรุ่นใหม่กลับเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้อุบัติเหตุบนท้องถนนเพิ่มขึ้น “สตีเวน ครูวสัน” (Stephen Crewdson) ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายธุรกิจประกันภัย ชี้ให้เห็นถึงอีกด้านของสิ่งอำนวยความสะดวกภายในตัวรถว่า อุปกรณ์ไฮเทคเช่นหน้าจอขนาดใหญ่บริเวณคอนโซลหน้ารถและเซ็นเซอร์ตรวจจับทั้งหลาย อาจมีส่วนทำให้ผู้ขับขี่เสียสมาธิขณะขับรถ ซึ่งในที่นี้รวมไปถึงหน้าจอแดชบอร์ดที่ถูกติดตั้งมาเพื่อมอบความบันเทิงให้กับผู้ใช้รถด้วย
- ขาดผู้ชำนาญ ต้นทุนการซ่อมเพิ่ม คณิตศาสตร์ประกันภัยแปรผันตามความสูญเสีย
ข้อมูลจากสำนักงานสถิติสหรัฐระบุว่า ระหว่างปี 2563 ถึง 2565 มีผู้สำเร็จการศึกษาในภาควิชายานยนต์ลดลงกว่า 20% เนื่องจากการเกษียณอายุของคนทำงานรุ่นเบบี้บูมเมอร์หลายพันคนในแต่ละปี โดยพบว่า วิชายานยนต์ไม่ใช่สาขายอดนิยมในกลุ่มคนรุ่นใหม่ เนื่องจากค่าแรงที่ต่ำกว่าค่าจ้างโดยเฉลี่ยถึง 20%
ไม่เพียงฝั่งสหรัฐเท่านั้น ในไทยเองก็พบว่า ยังขาดแคลนบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยเฉพาะวิชาชีพช่างซ่อมตัวถังและสีรถยนต์ ที่ยังมีความต้องการแรงงานในระบบอีก 50% แต่พบว่า มีช่างซ่อมตัวถังและสีรถยนต์เพียง 20% เท่านั้น ซึ่งการซ่อมตัวถังรถยนต์เป็นส่วนที่มีความสำคัญมาก เพราะมีเรื่องความปลอดภัยในการขับขี่รวมอยู่ด้วย
ด้าน “เดวิด แซมป์สัน” (David Sampson) ผู้บริหารและประธานกรรมการสมาคมประกันวินาศภัยสหรัฐ (American Property Casualty Insurance Association) ให้ข้อมูลกับสำนักข่าวซีเอ็นบีซี (CNBC) ว่า เบี้ยประกันที่เพิ่มขึ้นจากต้นทุนที่สูงขึ้นไม่ได้เกิดขึ้นมาลอยๆ แต่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักคณิตศาสตร์ประกันภัยเสมอ ดังนั้นบริษัทประกันจึงไม่ใช่ผู้ชี้ขาดว่า พวกเขาต้องการปรับเพิ่มเบี้ยตามใจชอบ ทั้งหมดขึ้นอยู่กับแนวโน้มการสูญเสียตามหลักคณิตศาสตร์ประกันภัย
แนวโน้มราคาประกันรถยนต์ที่ดูจะยังไม่มีคำตอบว่า จะมีการปรับลดลงได้ด้วยวิธีใด เพราะปัจจัยที่เกื้อหนุนให้ราคาพุ่งกระฉูดก็ล้วนมีที่มาที่ไปยึดโยงถึงกันทั้งสิ้น เทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้า หรือ “EV” อาจช่วยลดทอนค่าใช้จ่ายเรื่องราคาน้ำมันลง แต่ในระยะยาวหากระบบนิเวศของ EV ยังไม่สามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคได้กระจ่างชัด ขาดพร่องซึ่งห่วงโซ่อุปทาน เป้าหมายสูงสุดเรื่อง “Net Zero” ก็อาจยืดระยะไกลออกไปกว่าที่วาดฝันเอาไว้